ซีดีจี เผยโควิด-19 คลื่นดิสรัปชันลูกใหญ่ เร่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน แนะภาครัฐและเอกชน ตั้งรับ 3 ปรากฏการณ์ “New Normal” หลังวิกฤต
กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร แก่องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เผย UN คาดโควิด-19 ทำพิษ GDP ทั่วโลกลดร้อยละ 0.9 ด้าน กนง. คาด GDP ของไทยปีนี้จะติดลบ 5.3% เห็นชัดวิกฤตครั้งนี้คือสนามดิสรัปชันลูกใหม่ผลักดันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี แนะหน่วยงานเล็กใหญ่ใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูองค์กร เตรียมพร้อมทั้งความรู้ความสามารถบุคลากร ผนวกศักยภาพเทคโนโลยี ไปพร้อมกับประเมินสภาพ Disruptive waves ให้ถี่ถ้วนรัดกุม เพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืน มั่นใจศักยภาพคนศตวรรษที่ 20 จะช่วยวิกฤตผ่านพ้นไปได้ แนะธุรกิจเตรียมตั้งรับ 3 ปรากฏการณ์ความปกติใหม่ หรือ “New normal” โลกธุรกิจหลังวิกฤต พร้อมเตรียมแผนกลยุทธ์ 3P คือ Product Process และ People รับมือวิกฤตเพิ่มความแข็งแกร่งองค์กร มั่นใจโควิด-19 ไม่กระทบต่อธุรกิจและการให้บริการลูกค้า
นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และต่างประเทศ ส่งผลกระทบขยายวงกว้างไม่เว้นทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยข้อมูลของ UN คาดว่าจากวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้ GDP หดตัว ร้อยละ 0.9 แทนที่จะเติบโตมากถึง 2.5% ตามที่ทั่วโลกคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ด้านประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดว่า GDP ของไทยปีนี้จะติดลบ 5.3% จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นสนามดิสรัปชันลูกใหม่ที่เกิดขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว และเป็นตัวผลักดันหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในอนาคต
“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน แม้จะเป็นคำคุ้นหู แต่กลับพบว่ามีเพียง 21% ที่พร้อมรับมือโดยสมบูรณ์จริง ๆ โควิด-19 เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดครั้งนี้เป็นสนามดิสรัปชันที่เข้ามาท้าทายการบริหารจัดการขององค์กร เข้าใจถึงสถานการณ์ที่ลำบากซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานทุกระดับตั้งแต่ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ถึงภาคเอกชน หากลองมองในมุมที่ต่างจะเห็นส่วนที่เป็นโอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นการเกิดการทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อการบริหารจัดการงานภายในและภายนอกได้อย่างรวดเร็ว เสริมความแข็งแกร่ง และเป็นทางรอดในวิกฤตต่าง ๆ ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ จึงจำเป็นที่ต้องกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่เห็นประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยี คาดว่าวิกฤตนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้องค์กรอีก 79% ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น และเชื่อมั่นว่าศักยภาพคนศตวรรษที่ 20 จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นำเสนอต่อสังคม หากทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถบุคลากร ศักยภาพของเทคโนโลยี และการประเมินสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ disruptive waves ให้ถี่ถ้วนมากเพียงพอ” นายนาถกล่าว
นายนาถกล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตครั้งนี้ ทำให้ต้องทบทวนแผนการทำงานเชิงรุกที่วางไว้ ทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว ปรากฏการณ์ “New Normal” หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตผ่านพ้นไป คือการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในทุกภาคส่วน เพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนต้องปรับเปลี่ยน การบริการของหน่วยงานภาครัฐต้องสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วยช่องทางออนไลน์ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรับมือกับผู้บริโภคที่ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่ แต่รวมถึงทุกช่วงอายุจะสามารถเข้าถึงการใช้งานดิจิทัลได้อย่างคุ้นเคย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม แนะหน่วยงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่เตรียมตั้งรับ 3 ปรากฏการณ์ความปกติใหม่ หรือ “New normal” ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ดังนี้
- Remote Working มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อการทำงานแบบ Work From Home ถูกนำมาปรับใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการรับ-ส่งงาน ทำให้การทำงานของพนักงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานประเภทไหน จะไม่จำกัดด้วยเวลาและสถานที่ และยังคงประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าได้ดีเหมือนเดิม หลายองค์กรมีการลงทุนปรับรูปแบบการเก็บข้อมูลอยู่บนคลาวด์เพื่อความสะดวกในการใช้งานนอกสถานที่ การวางระบบจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงาน การสร้างระบบเชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลอย่างปลอดภัย รวมทั้งการตรวจสอบความพร้อมในการเรียกใช้งานข้อมูล
- Digital Platforms and Data Usage โลกเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างกระทันหัน ธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ถูกปรับมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงมีมูลค่ามากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจผ่านเทคโนโลยี GIS เพื่อหาความเหมาะสมในการเพิ่ม-ลดสาขา หรือการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่งผ่านระบบติดตามการขนส่งแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สินค้าและบริการถึงมือผู้รับอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และคงคุณภาพ
- Health Conscious องค์กรขับเคลื่อนด้วยคนเป็นปัจจัยสำคัญ วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพให้พนักงาน ด้วยมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดเชื้อภายในอาคาร การใช้เครื่องมือตรวจสอบสุขภาพพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่หลังวิกฤตผ่านไป และแน่นอนว่า การส่งเสริมสุขภาพของพนักงานจะถูกนำมาเป็นหัวข้อหลักของการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านบุคคล รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพของพนักงาน และสามารถนำมาวิเคราะห์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในการดูแลพนักงาน เช่น การติดตามสุขภาพของพนักงานทั้งสภาวะปกติและเจ็บป่วย หรือการสร้างกิจกรรมบนโลกออนไลน์ อย่างเช่น การวิ่งเก็บระยะแบบ Virtual Run เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ และส่งเสริมสุขภาพที่ดีของบุคลากรในองค์กร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรเพิ่มอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการวางแผนปรับเปลี่ยนองค์กรในเชิงดิจิทัล เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว โดยเปิดรับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนางาน พัฒนาบุคลากร โดย ซีดีจี ได้เตรียมแผน 3P รับมือวิกฤต คือ 1)Product มองหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการบนพื้นฐานเทคโนโลยีควบรวมกับความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กร เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงตามสภาวะการณ์อย่างทันท่วงที 2)Process การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนกระบวนการทำงานของลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบรับพฤติกรรมการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และ 3)People เสริมศักยภาพให้บุคลากร ปรับแพลตฟอร์มการเรียนรู้เป็น virtual training และ e-learning นำเทคโนโลยีที่มีมาใช้ เข้าถึงง่ายและเหมาะสมต่อสถานการณ์ ทำให้องค์กรแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในยามวิกฤต ต้องมองว่าเมื่อวิกฤตผ่านไป ทุกหน่วยงานที่ต้องการปรับตัวสู่ดิจิทัล จะต้องอาศัยทักษะของคนในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความสามารถของเทคโนโลยี นำพาหน่วยงานหรือธุรกิจ ทำให้การทรานส์ฟอร์มขององค์กรเห็นผล และฝ่าคลื่นดิสรัปชันลูกต่อ ๆ ไป เพื่อความแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว