24 ชั่วโมงสุดเข้มข้น เมื่อพลังคนรุ่นใหม่เข้าสู่เวทีประชันไอเดีย สร้างนวัตกรรมโซลูชันสุดล้ำ กับโจทย์สุดหิน ในงาน CDG Hackathon ซีซัน 2
นวัตกรรมโซลูชันที่ขับเคลื่อนสังคมได้จริง ไม่จำเป็นต้องมาจากองค์กรใหญ่ที่มีต้นทุนให้ลองผิดถูกเสมอไป แต่เกิดได้จาก ‘เพชชั่น’ และพลังไอเดียแปลกใหม่ของคนรุ่นใหม่
บริษัท คอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือกลุ่มซีดีจี ผู้นำด้านบริการเทคโนโลยีอัตลักษณ์ดิจิทัล และ 42 Bangkok กำหนดโจทย์ “ระบบวัดส่วนสูงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างโซลูชัน ผ่านการนำเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาผ่านการเขียนโค้ดมาช่วยเหลือเจ้าในหน้าที่ในการวัดส่วนสูงของผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น การประเมินสุขภาพ ตลอดจนพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ ไอเดียเหล่านี้จะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ และเตรียมพร้อมกับความท้าทายของการเข้าสู่สังคมสูงวัย
เหล่าผู้เข้าแข่งขันคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายกันออกไปทั้งระดับชั้นที่มีตั้งแต่ระดับชั้น มัธยมศึกษา ไปจนถึงพนักงานประจำ และชาวต่างชาติ รวมทั้งหมดแล้วกว่า 50 คน ต่างรวมตัวกันอยู่ Lifelong Learning Center สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 18 – 19 พ.ค. 67 ทำงาน กิน นอน ใช้ชีวิตในทุกมุมเป็นระยะเวลากว่า 24 ชั่วโมง ทั้งจับกลุ่มรวม ปรึกษาเมนเทอร์ บริหารแบ่งหน้าที่ ซ้อมพรีเซนเทชัน และเสนอโปรโตไทป์ตัวอย่าง ภาพไม่ต่างกับซีรีย์เกาหลีชื่อดังเรื่องหนึ่ง เพื่อเสกไอเดีย ให้ออกมาเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับสังคมในเวลาอันจำกัด
“Hack” กันยันเช้า เพราะหยุดเพียงเสี้ยวนาที อาจคลาดกันการคว้าชัยในสนามที่ไอเดียทุกคนถูกปลุกให้ตื่นเสมอ ทุกมุมของอาคารอเนกประสงค์ คือพื้นที่แห่งการทดลอง แก้ไข ปรับกลยุทธ์ ของทุกทีม เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าไอเดียของตัวเองที่เสนอต่อคณะกรรมการในวันพิชชิ่ง (Pitching Day) ของเช้าวันรุ่งขึ้น จะซื้อใจกรรมการ พร้อมตะโกนให้รู้ว่าพวกเขาคือ “ของจริง”
ภายในเวลาแค่ 10 นาที มันคืออุปสรรคด่านสุดท้ายของทุกทีม เวลานับถอยหลังลงอย่างรวดเร็วนำเสนอไอเดียได้ไม่ดีพอในกรอบเวลา หรือตอบคำถามที่ถูกคณะกรรมการยิงมาต่อเนื่องได้ไม่เคลียร์ เสียงกระดิ่งบอกหมดเวลาอาจหมายถึงอวสานของแนวคิดที่ปั้นกันมาทั้ง 24 ชั่วโมง เพราะแม้ไอเดียจะล้ำค่าเพียงใด แต่สิ่งสำคัญมันจะเป็นไปได้มากแค่ไหน? จะไปต่ออย่างไร? หรือแน่ใจได้อย่างไรว่าระบบจะเสถียรและแม่นยำได้มากพอจะใช้งานมัน” ซึ่งบางคำถามก็ปราบเซียนจนบางทีมไปไม่เป็น
กระนั้น คำถามที่กระหน่ำโถมเข้ามา ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเชื่อมั่นในไอเดียของตนเองได้ และนี่คือโฉมหน้าของทีมชนะเลิศ ที่พิสูจน์ตัวเองในการเอาชนะกับสมรภูมิพิชชิ่งเดย์ นอกจากจะได้เงินรางวัล 70,000 แล้วนั้น ก็ได้เปิดประตูตัวเองเข้าสู่อนาคตในวงการเทคโนโลยี และแน่นอนกลุ่มบริษัทซีดีจี เองก็มองเห็นโอกาสจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้น และพร้อมสนับสนุนผลักดันให้ไอเดียเหล่าได้เติบโต แข็งแรง และผสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน
TEES นวัตกรรมโซลูชัน วัดส่วนสูงผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงจาก “ใบหน้า”
TEES คือทีมชนะเลิศประจำการแข่งขันในซีซันนี้ ด้วยการคิดค้นไอเดียที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จากการวัดส่วนสูงทั้งหมดที่อาศัยเพียงสัดส่วนของ “ใบหน้า” เท่านั้น จากผลงานสุดว้าวส่งผลให้พวกเขาทะยานขึ้นจุดสูงสุดของการแข่งขันด้วยรางวัลชนะเลิศ และคว้าเงินรางวัลกว่า 70,000 บาทมาครอง
4 คนรุ่นใหม่สายเลือดประเทศเมียนมา นักศึกษาจาก ม.ลาดกระบัง คือม้ามืดนอกสายตาที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรมากนัก แต่กลับสร้างความตื่นเต้นทันทีเมื่อยืนอยู่บนเวทีนำเสนอผลงาน พร้อมกับผลงานที่ ฉีกจากกลุ่มอื่น ๆ โดยสิ้นเชิงด้วยกับผลงานใบหน้า ที่แทนส่วนสูงของผู้ป่วย
“การใช้โซลูชันที่ล้ำสมัยอาจมีค่าใช้จ่ายสูง และเกิดความยุ่งยากซับซ้อน เช่น กล้องขาตั้งขนาดใหญ่ หรือคนที่คอยจัดการท่าทางต่าง ๆ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเสถียร แต่ของเรานั้นรวดเร็ว ง่ายดาย เพียงแค่สมาร์ทโฟนที่สามารถถ่ายบริเวณใบหน้าก็เพียงพอแล้ว นี่คือเหตุผลที่เราเลือกแนวทางนี้ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้แน่นอน” ทูรา ออง หนึ่งในสมาชิกทีมกล่าว
“ด้วยระยะเวลาแค่ข้ามคืน มันเหมือนดึงศักยภาพเราออกมาเต็มที่โดยที่เราไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเชื่อคือสิ่งที่ตอบโจทย์สังคมหรือเปล่า การแข่งขันครั้งนี้ช่วยให้เราสามารถทดสอบศักยภาพตัวเองว่า เราเจ๋งแค่ไหน แพทชั่นมีแค่ไหน” เอย มยัต เว กล่าวทิ้งท้าย
ผลลัพธ์อันแสนจะโดดเด่นจากพลังคนรุ่นใหม่จากหลายทีมแสดงให้เห็นว่าโซลูชันใหม่ ๆ ไม่ต้องใช้เวลานานเสมอไป แต่หัวใจสำคัญเลยคือทีมเวิร์ก ความหลากหลายของทักษะ มุมมอง หลอมรวมกันผ่าน
แพชชั่นในเรื่องเดียวกัน เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นให้ไอเดียนี้เป็นจริงได้ทันที ส่งผลให้เกิดความสร้างสรรค์ของไอเดียที่ตอบโจทย์สังคมที่ท้าทายอย่างไม่รู้จบ
กลุ่มบริษัทซีดีจี ภายใต้โครงการ “Code Their Dreams” เชื่อมั่นว่า การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่สามารถช่วยพัฒนาการศึกษาและความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ซึ่งการแข่งขัน Hackathon ครั้งนี้ น้อง ๆ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ไม่ได้รางวัลกลับไป แต่สิ่งสำคัญคือการจุดประกายไฟในตัวเอง ผ่านการทำงานกับคนเก่ง ๆ ตลอดจนได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ช่วยติดอาวุธพร้อมสำหรับยกถัดไปในเวทีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี