ESRI ปลุกฝันนักคิด จัด Esri App Challenge 2018: Your App Your Idea จุดประกายนักพัฒนาแอพพลิเคชันหวังสร้างบุคลากรด้านไอที
บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด จัดโครงการประกวด Esri App Challenge 2018 : Your App Your Idea สานฝันนักคิด นักพัฒนาแอพพลิเคชัน เป็นเวทีการประกวดที่เปิดให้นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่กล้าคิด ชอบความท้าทาย ได้มีเวทีในการแสดงทักษะ ความสามารถและแนวคิดใหม่ ในการออกแบบแอพพลิเคชันโดยประยุกต์ใช้งานร่วมกับ ArcGIS ซอร์ฟแวร์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพัฒนาแอพพลิเคชันต้นแบบที่สามารถนำไปใช้กับธุรกิจต่าง ๆ ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลุ่มนักศึกษาที่ชนะการแข่งขัน 3 กลุ่มแรกจะได้รับเงินรางวัลรวม 100,000 บาท และโอกาสร่วมงานกับบริษัทฯ
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แบบครบวงจร เป็นตัวแทนหลักของประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในการจัดจำหน่ายซอร์ฟแวร์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) อันดับหนึ่งของโลก จาก Esri, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ ArcGIS กล่าวว่า ปัจจุบันแอพพลิเคชันมีบทบาทชัดเจนในเชิงธุรกิจ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยมีแอพพลิเคชันระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ที่สามารถสร้าง Location Strategy อยู่อย่างมากมาย และมีแนวโน้มการใช้งานที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางบริษัทฯจึงมีความตั้งใจในการพัฒนาส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและมีศักยภาพเกี่ยวกับ Location Strategy มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเท่าทันต่อความต้องการทางด้าน Location Strategy ต่อไป จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการประกวด Esri App Challenge 2018: Your App Your Idea ขึ้น ด้วยความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรม สารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี กล่าวถึง การประกวด Esri App Challenge 2018: Your App Your Idea ว่าเด็กรุ่นใหม่เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตได้ ไอเดียเป็นเรื่องของการต่อยอดได้ไม่จำกัด โครงการนี้สามารถทำให้เด็กเรียนรู้มากกว่าการทำแอพพลิเคชัน แต่สามารถประยุกต์ใช้ทางด้านธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม แอพพลิเคชันจะมาต่อยอดข้อมูลในการวิเคราะห์ และช่วยประหยัดเวลา สำหรับทีมที่เข้าประกวดมีทั้งนักศึกษาปี 3 ปี 4 และระดับปริญญาโท เกณฑ์การตัดสิน คือนักศึกษาที่เข้าประกวดต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มีแนวคิด มีความท้าทาย มีความสนใจและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี รวมทั้งมีทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจาก ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แล้วการประกวดยังเน้นการพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แอพพลิเคชันที่ดีต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถให้ข้อมูลในอนาคตได้
ปิดิกร กิตติสิน นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากทีม “EMPOWERING” (Property For Sales) พูดถึงการนำ ArcGIS มาต่อยอดเป็นแอพพลิเคชันอำนวยความสะดวกด้านอสังหาริมทรัพย์ว่า “ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินทรัพย์รอการขายในความดูแลของธนาคารเป็นจำนวนมาก แอพพลิเคชันตัวนี้จะช่วยลดความยุ่งยาก และประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลสินทรัพย์ต่างธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งแสดงตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ”
ด้าน อภิชญา พรหมณเรศ วนิษฐกานต์ ศรีรัตนะชัย และ ทศพร คงแสน จาก คณะวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เจ้าของทีมชื่อ “อะไรนะ” ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชันระบุตำแหน่งสิ่งอำนวยความสะดวกในแผนที่สำหรับผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่ โดยระบุสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท โรงพยาบาล โรงเรียน ป้ายขึ้น-ลงรถโดยสารประจำทาง สถานีรถไฟฟ้า BTS MRT โดยบอกข้อมูลของรายละเอียดต่าง ๆ ของสถานที่ในขอบเขตระยะที่ผู้ใช้สามารถกำหนดเองได้ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจเลือกเช่า หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ตรงกับความต้องการของตนเอง
อีกก้าวหนึ่งของเทคโนโลยีกับบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่นำโปรแกรม ArcGIS มาประยุกต์ใช้ คือน้อง ๆ นักศึกษาจากทีม “Thailand Touring List” และ “Trace Me” โดย “Thailand Touring List” พัฒนาเว็บไซต์เกี่ยวกับการจัดทัวร์นำเที่ยว สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางหรือต้องการเดินทางแต่ยังไม่ทราบข้อมูล นักท่องเที่ยวสามารถกำหนดจังหวัดหรือสถานที่ท่องเที่ยว เลือกได้ว่าจะเที่ยวแบบไหน เที่ยวโดยทัวร์ที่มีอยู่แล้วหรือจัดทัวร์เอง กำหนดงบประมาณที่ใช้ในการเดินทางวันเดียวหรือหลายวัน พาหนะที่ต้องการใช้ โดยระบุตำแหน่งที่นักท่องเที่ยวอยู่ เพื่อคำนวณและแสดงข้อมูลที่ต้องการให้อัตโนมัติ
ในขณะที่ Trace Me ต่อยอดเป็นแอพพลิเคชันสำหรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัว อาจเป็นเพียงแค่การท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้ตัวที่ไม่เคยพบมาก่อน เช่น สำหรับกลุ่มแรก Trace Me จะแนะนำการท่องเที่ยวที่เหมาะสม โดยผู้ใช้สามารถเลือกดูจากปัจจัย 4 อย่าง ได้แก่ ตำแหน่งของผู้ใช้ สไตล์การท่องเที่ยว (การกิน ถ่ายรูป กิจกรรมกลางแจ้ง และอื่น ๆ) ระยะเวลาในการท่องเที่ยว และงบประมาณ โดยข้อมูลเหล่านี้มาจากกลุ่มผู้ใช้กลุ่มที่ 2 ซึ่ง Trace Me มีแพลตฟอร์มสำหรับเขียนเรื่องราวระหว่างการท่องเที่ยวพร้อมรูปถ่าย โดยอ้างอิงจากตำแหน่งและเวลาผ่าน API ของ ArcGIS ในการแสดงผลเป็นแผนที่ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งบนเว็บแอพพลิเคชันและโมบายแอพพลิเคชัน ซึ่งการประกวดล่าสุดก็ได้ผู้ชนะเลิศถึง 2 ทีมด้วยกัน ได้แก่
- ทีม Empowering
- ทีม Trace Me
เนื่องจากทั้งสองทีมมีความเข้าใจในการต่อยอดของแอพพลิเคชัน และใช้ ArcGIS ในการสร้างแอพพลิเคชันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการได้ในที่สุด