Real Estate
เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ
กลุ่มบริษัทซีดีจี ร่วมกับฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจัดทำข้อมูลที่อยู่อาศัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมในรูปแบบฐานข้อมูลและแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รวมทั้งศึกษาและวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีหน้าที่ครอบคลุมการลงพื้นที่สำรวจ จัดทำฐานข้อมูลชุมชนผู้มีรายได้น้อย แสดงที่ตั้งชุมชนและขอบเขตชุมชน จำนวนครัวเรือน จำนวนหลังคาเรือนต่อพื้นที่ และจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยภาครัฐการเคหะแห่งชาติ แสดงตำแหน่งและผังโครงการ และตำแหน่งโครงการที่อยู่อาศัยภาคเอกชน โดยอาศัยเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศ และพนักงานเก็บข้อมูลภาคสนามในการวิเคราะห์แผนที่ภูมิศาสตร์ กล่าวได้ว่าระบบ GIS มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จนี้ เพราะช่วยสนับสนุนข้อมูลและการทำงานที่แม่นยำ ทั้งยังช่วยวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานของที่อยู่อาศัยในเขตเมือง อาทิ การแก้ปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีอุปสงค์เปลี่ยนไป ซึ่งผลการวิเคราะห์และข้อมูลในระบบ GIS ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่สมควรสร้างโครงการเพิ่ม จึงสามารถลดความเสียหายในส่วนที่ยังไม่ก่อสร้างได้ ผลการการทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้การเคหะแห่งชาติมีข้อมูลในระบบ GIS ที่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนข้อมูลชุมชนแออัด และโครงการของการเคหะแห่งชาติ ไปจนถึงหน่วยที่พักอาศัยและเลขบ้าน ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่ยังช่วยในการตัดสินใจและทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าการเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่บุกเบิกการใช้ GIS ในด้านการจัดการที่อยู่อาศัยในเขตเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างชัดเจน ตลอดจนมีการนำเอาระบบ GIS มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชนบท เช่น การทำแผนที่ชุมชนที่ระบุสภาพปัญหาของแต่ละหลังคาเรือน หรือการตั้งถิ่นฐานในชนบทของหมู่บ้าน การพัฒนาโปรแกรมสำหรับการบริหารจัดการค่าชดเชยในกรณีเกิดภัยพิบัติ ปัญหาในการตั้งถิ่นฐาน มีน้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่ และการบริการจัดการความช่วยเหลือค่าชดเชยของแต่ละหลังคาเรือน ทำให้สามารถตรวจสอบความช่วยเหลือที่รัฐมอบให้ชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง