อีเอสอาร์ไอขยายตลาดภูมิสารสนเทศ (GIS) รุกกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งเป้าผู้ประกอบการไทยหันใช้เทคโนโลยีแผนที่อัจฉริยะพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร
กรุงเทพฯ (25มีนาคม2557) – อีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย) ตอกย้ำผู้นำการให้บริการระบบ ภูมิสารสนเทศ (GIS) แบบครบวงจร เดินหน้ารุกตลาดกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เน้นการใช้ระบบ GIS แผนที่อัจฉริยะเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ เตรียมกลยุทธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบการ ตั้งเป้ารายได้อีเอสอาร์ไอสิ้นปีรวม 1,700 ล้านบาท
นายไซมอน ทอมป์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชยกิจ อีเอสอาร์ไออิงค์ (สหรัฐอเมริกา) ผู้ให้บริการระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) แบบครบวงจร กล่าวว่า “ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System-GIS )” คือ เทคโนโลยีที่มีความสามารถในการจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการนำมาใช้วิเคราะห์และอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ข้อมูลด้านการขนส่ง การตลาด วัตถุดิบ หรือข้อมูลของคู่แข่งทางธุรกิจ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำมาช่วยวิเคราะห์และพัฒนา และช่วยตัดสินใจในการบริหารจัดการต่างๆ เพราะข้อมูลที่ได้จากระบบจีไอเอสเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์และครอบคลุมข้อมูลทุกด้านที่ผู้ประกอบการต้องการ”
“จากแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ที่มีมูลค่าตลาดมหาศาลและการแข่งขันสูง จีไอเอสได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในทวีปอเมริกาและยุโรป นอกจากการใช้จีไอเอสกับโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐบาลแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในธุรกิจภาคเอกชน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการใช้ จีไอเอสในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยได้นำระบบนี้ไปใช้ตั้งแต่การคำนวณความต้องการของตลาด การกำหนดพื้นที่ในการสร้างโรงงานและสถานที่ที่เหมาะสมในการตั้งร้านค้า การจัดการระบบขนส่งสินค้าและจัดจำหน่าย การประเมินยอดขายและเปรียบเทียบกับคู่แข่งการแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนการส่งเสริมการขาย และช่วยในการวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น ซึ่งอีเอสอาร์ไอถือเป็นผู้นำระบบจีไอเอสอันดับ 1 ของโลกที่ปัจจุบันมีการนำไปใช้แล้วในกว่า 70% ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก โดยยอดรายได้ในส่วนของจีไอเอสภาคเอกชนของอีเอสอาร์ไอทั่วโลกเติบโตขึ้นปีละ 25% ต่อเนื่องทุกปีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา”
“นอกจากตลาดหลักในอเมริกาและยุโรปแล้วทวีปเอเชียก็มีการใช้จีไอเอสในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศสำหรับภาคเอกชนเริ่มมีบางประเทศที่ใช้จีไอเอสแพร่หลายในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี จีน และญี่ปุ่น โดยเป้าหมายต่อไปของอีเอสอาร์ไอ คือ การขยายตลาดจีไอเอสในภูมิภาคเอเชีย เพราะเอเชียถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการขยายตัวทางธุรกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจีไอเอสที่เปรียบเสมือนคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ จะช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียได้อย่างครบถ้วน” นายไซมอนกล่าวเสริม
นายไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย ในอดีตมีการใช้จีไอเอสแพร่หลายในหน่วยงานภาครัฐ เช่น การบริหารระบบสาธารณูปโภคเช่นไฟฟ้า ประปา การวางผังเมือง การบริหารระบบคมนาคม การจัดการการเกษตรและที่ดิน เป็นต้น ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนได้มีการนำจีไอเอสมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังอยู่ในวงจำกัดเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม และจำนวนยังไม่มาก เช่น กลุ่มธุรกิจธนาคาร กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการลงทุนค่าใช้จ่ายเพราะในอดีตฮาร์ดแวร์ซอฟท์แวร์มีราคาสูง และที่สำคัญคือการขาดแคลนข้อมูลเชิงตำแหน่งหรือแผนที่ที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันข้อจำกัดดังกล่าวได้หมดไปเพราะความก้าวหน้าทางด้านระบบ จีไอเอส ที่ใช้งานได้ง่ายทั้งในแง่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน อีกทั้งการพัฒนาให้มีหลากหลายแพลทฟอร์ม เช่น แบบServer, แบบCloud, แบบMobile จึงทำให้สามารถเลือกโซลูชั่นในราคาที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทของธุรกิจแต่ละประเภท นอกจากนี้อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) ก็ได้จัดเตรียมข้อมูลแผนที่และจีไอเอสที่มีความถูกต้อง ทันสมัย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทยและมีความหลากหลายตรงตามความต้องการของธุรกิจด้านต่างๆ เช่นข้อมูลแผนที่ฐาน ข้อมูลถนน ข้อมูลบ้านเลขที่ ข้อมูลสถานประกอบการ ข้อมูลประชากรศาสตร์ เป็นต้น”
“อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดจีไอเอสไปยังภาคเอกชนประเดิมด้วยกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะอีเอสอาร์ไอเป็นผู้ให้บริการระบบจีไอเอสเพียงเจ้าเดียวในประเทศไทยที่สามารถนำเสนอโซลูชั่นจีไอเอสได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่การวางระบบ การสำรวจจัดเก็บข้อมูล จนถึงการปฏิบัติการภาคสนามทั้งนี้สภาพการแข่งขันในปัจจุบันและการเปิด AEC ในปี 2558 มีแนวโน้มว่าทุกองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตและการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการนำจีไอเอสมาใช้ในกลุ่มธุรกิจนี้ เพราะมีข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดและพร้อมใช้งานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีไอเอสเป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำงานเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศที่องค์กรมีอยู่เดิม เช่น ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning), SAP, Oracle, BI (Business Intelligent), MS office เป็นต้น ทำให้องค์กรสามารถวิเคราะห์วางแผนและบริหารงานธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รู้และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่มีความสัมพันธ์กับข้อมูลทางตำแหน่งพื้นที่ สามารถวางแผนบริหารจัดการด้านต่างๆได้หลายรูปแบบ เช่น หาพื้นที่การลงทุนหรือศูนย์กระจายสินค้า การแบ่งเขตการขาย การจัดส่งสินค้า การบริหารงานขายภาคสนาม เป็นต้น ทำให้ระบบจีไอเอสเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างมากมายมหาศาล” นายไกรรพกล่าวเสริม
นายไกรรพกล่าวถึงกลยุทธ์ทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคว่า “ในประเทศไทยจีไอเอสยังเป็นสิ่งใหม่ในธุรกิจและยังมีความเข้าใจว่าราคาแพง ใช้งานยาก ไม่มีข้อมูล ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจีไอเอสว่าคืออะไรและมีประโยชน์ต่อธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไรบ้าง โดยจะมีการจัดสัมนาในกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะมีการจัดสัมมนา “Esri Business Summit “ ตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมและครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายนนอกจากนี้บริษัทจะจัดงานสัมนาประจำปี Thailand GIS User Conference ในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการแนะนำจีไอเอสให้กับผู้ใช้ในประเทศไทย รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น ด้านคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) การให้ความรู้เกี่ยวกับจีไอเอสผ่านทางช่องทางต่างๆ การยกตัวอย่างกรณีศึกษา (GIS case study) การให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ www.erith.com/business และ Facebook แฟนเพจ เป็นต้นโดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ราย”
“บริษัทเชื่อมั่นว่าความเป็นมืออาชีพในการให้บริการเทคโนโลยีจีไอเอสเพียงเจ้าเดียวในประเทศไทย ที่สามารถนำเสนอโซลูชั่นจีไอเอสได้ครบทุกขั้นตอน ประกอบกับการขยายตัวของตลาดกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค จะทำให้การใช้เทคโนโลยีจีไอเอสในกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในการให้บริการระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ด้วยยอดรายได้อีเอสอาร์ไอรวมกว่า 1,700 ล้านบาท ภายในสิ้นปีโดยแบ่งเป็นรายได้จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคราว 100 ล้านบาท” นายไกรรพกล่าวสรุป