อีเอสอาร์ไอย้ำ “จีไอเอสเป็นกุญแจพลิกโฉมโลก” ตั้งเป้าติดอาวุธภาครัฐและเอกชนให้แข็งแกร่งด้วยภูมิสารสนเทศ
นางสาว ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีและบริการด้านภูมิสารสนเทศกล่าวว่า “ปัจจุบันโลกหมุนไปเร็วมาก การแข่งขันสูงขึ้นอย่างรุนแรง หลายหน่วยงานต่างก็พยายามพัฒนาให้ก้าวนำ ซึ่งมีอีกหนึ่งอาวุธสำคัญซึ่งสามารถช่วยทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความสามารถในการแข่งขันที่หลายหน่วยงานอาจจะยังไม่เคยนำมาใช้คือ “ภูมิสารสนเทศ (GIS)” เมื่อประยุกต์ใช้ความรู้ความเข้าใจทางภูมิสารสนเทศจะทำให้องค์กรทั้งรัฐและเอกชนได้เห็นทุกแง่มุมของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นระบบ นำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างได้เปรียบ ปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวทั่วโลกในด้านจีไอเอสที่น่าสนใจอาทิ 1) แรงขับเคลื่อนของ Open Data ที่จะผลักดันให้จีไอเอสเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานโดยเรียกใช้ข้อมูลที่มีการแชร์กันอย่างเปิดกว้างระหว่างหน่วยงานระดับท้องถิ่นระดับชาติและระหว่างประเทศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของท้องถิ่นทั่วโลกทำให้เห็นว่าหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของระบบภูมิสารสนเทศหรือสร้างบริการออนไลน์ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้ และ 2) Location intelligence for the Internet of Things อุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Things) มีการนำข้อมูลมากมายมหาศาลที่บันทึกได้ ณ เวลาจริงมาวิเคราะห์ประกอบกับข้อมูลตำแหน่งเพื่อใช้ประมวลผลข้อมูล”
อีเอสอาร์ไอมองแนวโน้มในอนาคตว่า ภูมิสารสนเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมโลก ผู้ที่นำข้อมูลทางภูมิศาสตร์มาใช้จะได้เปรียบในด้านข้อมูลจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดตลอดจนการแข่งขันที่ได้เปรียบคู่แข่งเพราะจีไอเอสจะทำให้มองเห็นโอกาสที่คู่แข่งมองไม่เห็น ในปีนี้บริษัทจึงเตรียมรุกหนักตลาดซอฟต์แวร์จีไอเอสในเมืองไทยบนพื้นฐานของ ArcGIS Platform มีซอฟต์แวร์ในทุกรูปแบบ ทั้งการใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป เว็บไซต์ และแบบโมบายล์ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน พร้อมแอพพลิเคชั่นพร้อมใช้กว่า 300 แอพ ให้ลูกค้าเลือกใช้ตามความต้องการ โดยอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ของอีเอสอาร์ไอ (สหรัฐอเมริกา) โดยการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ บริษัทที่ทำธุรกิจด้านจีไอเอส และ SI (System Integrator) รายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญและนำซอฟต์แวร์ของอีเอสอาร์ไอไปสร้างเป็นโซลูชั่นให้กับลูกค้า
“ในปีนี้อีเอสอาร์ไอเตรียมพร้อมในการบุกตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีทีมงานกว่า 40 คน และมีทีมพิเศษที่เชี่ยวชาญในการเจาะแต่ละตลาดโดยเฉพาะ โดยมุ่งเจาะตลาด 1) ภาครัฐที่ยังไม่เคยใช้จีไอเอส เช่นอบต. อบจ. โดยจะมีการเปิดตัวซอฟต์แวร์พร้อมใช้ใหม่ล่าสุดของอีเอสอาร์ไอ ออกแบบมาเพื่อสำหรับหน่วยงานชุมชนโดยเฉพาะคือ Smart Local Government Suite (SLG) ที่ประกอบไปด้วย 22 แอพพลิเคชั่นชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาโดยแอพฯเหล่านี้จะนำจีไอเอสมาใช้พลิกโฉมหน่วยงานระดับท้องถิ่นเหล่านี้ให้เป็นชุมชนอัจฉริยะ Smart Community ได้ไม่ยาก เช่น การแจ้งปัญหาในท้องที่ เช่น น้ำไม่ไหล ไฟดับ อาชญากรรม ผ่านแอพพลิเคชั่นและทุกเรื่องที่มีข้อมูลทางด้านพื้นที่หรือภูมิศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตจะต่อยอดขยายสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้และสมาร์ทคันทรี่ทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว 2) ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจต่างๆ ที่ทำเลที่ตั้งมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถดูพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างคอนโด ธุรกิจธนาคารช่วยเลือกพื้นที่ในการเปิดสาขาตั้งตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจค้าปลีกเลือกตำแหน่งที่ลูกค้าเข้าถึงได้สูงสุด และธุรกิจการผลิตที่จีไอเอสจะช่วยเลือกพื้นที่ที่เหมาะใช้ในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น 3) การให้ความรู้ด้านจีไอเอสกับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำกว่า 10 แห่ง เพื่อสร้างบุคลากรในตลาดจีไอเอสให้มากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของตลาด และบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการปรับใช้เทคโนโลยีจีไอเอสเข้ากับธุรกิจให้กับเยาวชน และ 4) การขยายตลาดโดยการขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อพัฒนาระบบจีไอเอสในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ความเป็นสมาร์ทคันทรี่ได้ในที่สุด” นางสาวธนพร กล่าวเสริม
ไม่เพียงแต่มุ่งในการทำธุรกิจอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) ยังช่วยผลักดันโครงการต้นแบบนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติโดยเพิ่งเข้ารับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้สนับสนุนโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ “รอดปลอดภัย(พิบัติ)” หรือ“Social Innovation for Disaster Risk Reduction Award” ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สำนักงานประเทศไทยร่วมกับภาครัฐเอกชนและประชาสังคมกว่า 19 องค์กรเพื่อค้นหาไอเดียที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติและเตรียมความพร้อมรับมือได้ดีขึ้นและช่วยชุมชนที่ฟื้นฟูสภาพให้ดีขึ้นหลังเกิดภัยพิบัติ
“เป้าหมายสูงสุดของอีเอสอาร์ไอ คืออยากเห็นประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสมาร์ทคันทรีที่ใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์มาเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน และใช้ในการพัฒนาสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันในลักษณะข้อมูลเปิด (Open Data) จึงจะสามารถผลักดันให้การใช้จีไอเอสให้เกิดขึ้นได้และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นางสาว ธนพร กล่าวทิ้งท้าย