บริหารต้นทุนโลจิสติกส์ เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ AEC
การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2558จะส่งผลให้มีการเปิดเสรีทางด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจบริการ รวมถึงแรงงานมีฝีมือ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาแข่งขันและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็สามารถเข้าไปลงทุนและสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ รวมถึงสร้างโอกาสการค้ากับกลุ่มคู่ค้าสำคัญๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเพื่อเตรียมการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การขนส่งแบบ “ไร้พรมแดน” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างโอกาสทางการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กลางอาเซียน หากเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้สามารถรองรับการขยายตัวของตลาดไปสู่การค้าชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยดึงฐานลูกค้าเข้ามาเพิ่มได้ ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งทุกช่องทางให้เชื่อมออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเร่งพัฒนาคน ระบบไอที หรือระเบียบข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจการค้าไทยจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิตสินค้าให้ได้ประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่สามารถรองรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทิศทางราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว
ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องปรับระบบการผลิตและการขนส่งให้สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาให้น้อยลง เนื่องจากการบริหารจัดการการขนส่งที่ดีมีผลอย่างยิ่งต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นการบริหารงานขนส่งอย่างมีคุณภาพทั้งด้านการจัดส่งที่ตรงต่อเวลา สภาพของสินค้าที่ไม่บุบสลาย และการจัดส่งสินค้าได้อย่างครบถ้วนไม่สูญหายจะทำให้เกิดการบริการลูกค้าที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น
การบริหารจัดการการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ และเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการบริการ
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เข้ามาจัดการการบริหารกลุ่มรถและติดตามรถขนส่ง เรียกว่า Fleet Management and GPS Tracking System ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีระบบบริหารงานขนส่ง มีประโยชน์มากมายทั้งด้านความปลอดภัย และการบริหารงานขนส่ง อาทิเช่น
- การวางแผนจัดสรรการทำงานของรถขนส่ง ทำให้ใช้ระยะทางและเวลาในการกระจายสินค้าที่น้อยที่สุด
- การติดตามตำแหน่งปัจจุบันของรถและพฤติกรรมการขับรถ เช่น วิ่งรถเร็วเกินความเร็วที่กำหนด วิ่งรถออกนอกเส้นทางที่วางแผนไว้ หรือการติดเซ็นเซอร์ตรวจสอบระดับน้ำมัน ระบบอุณหภูมิภายในตู้ขนส่งสินค้า โดยสามารถแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุม ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งและทำให้ส่งสินค้าได้ภายในกำหนดเวลา
- การวางแผนและปรับปรุงแผนงานขนส่งและการบำรุงรักษารถขนส่งจากข้อมูลรายงานประวัติการเดินรถ
- การควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงรักษา
- ความพึงพอใจของลูกค้าจากการบริการขนส่งที่มีมาตรฐานและสามารถควบคุมคุณภาพได้
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีอาเซียน ผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการการขนส่งก็ได้พัฒนาระบบให้รองรับการทำงานบนเครือข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสื่อสารไร้สายหรือระบบดาวเทียม และสามารถแสดงตำแหน่งยานพาหนะได้บนข้อมูลแผนที่ในกลุ่มประเทศอาเชียน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถบริหารงานขนส่งและติดตามรถขนส่งสินค้าได้ต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย โดยการลงทุนติดตั้งระบบก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป และสามารถใช้งานได้กับรถทุกประเภทไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของรถแต่ละคัน
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีอาเซียน ผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการการขนส่งก็ได้พัฒนาระบบให้รองรับการทำงานบนเครือข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสื่อสารไร้สายหรือระบบดาวเทียม และสามารถแสดงตำแหน่งยานพาหนะได้บนข้อมูลแผนที่ในกลุ่มประเทศอาเชียน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถบริหารงานขนส่งและติดตามรถขนส่งสินค้าได้ต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย โดยการลงทุนติดตั้งระบบก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป และสามารถใช้งานได้กับรถทุกประเภทไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของรถแต่ละคัน